เกี่ยวกับเรา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เดิมชื่อ โรงเรียนประชาบาล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดกองวิสามัญศึกษากรมศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เปิดสอน เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยรับนักเรียนประโยคประถมศึกษาปีที่ 3 เข้าเรียนวิชา การฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างทอผ้า บัญชีร้านค้า

พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าและการช่างสตรีเชียงใหม่ สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ โดยรับนักเรียนที่จบชั้นประถมปีที่ 4 เข้าเรียน แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 แผนกคือ แผนกช่างตัดเย็บเสื้อผ้า และแผนกการช่างสตรี
พ.ศ. 2482 ทางราชการได้ให้ย้ายจากสถานที่เช่าเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพให้มาตั้งอยู่ที่สถานที่ปัจจุบันเดิมเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ (โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่) มีพื้นที่ 8 ไร่
พ.ศ. 2486 ได้รวมแผนกตัดเย็บเสื้อผ้าและแผนกช่างสตรีเข้าด้วยกันให้ชื่อใหม่ว่าแผนกการช่างสตรีและเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาใหม่โดยชื่อว่า โรงเรียนการช่างสตรี สังกัดแผนกการช่างสตรี กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สอนระดับอาชีวศึกษาชั้นต้น หลักสูตร 2 ปี
พ.ศ. 2513 เสนอโครงการนำร่องขอเปิดสอนแผนกวิชาพาณิชยการ ซึ่งได้รับอนุมัติจึงถือได้ว่าเป็นสถานศึกษาแห่งแรกของกรมอาชีวศึกษาในส่วนภูมิภาคที่เปิดสอนแผนกนี้ ซึ่งต่อมาแผนกวิชาดังกล่าวนี้ได้รับความเห็นชอบจากกรมอาชีวศึกษาให้มีการเปิดสอนในโรงเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศในระยะเวลาต่อมา

พ.ศ. 2516 เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 สังกัดกองโรงเรียน กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2519 กรมอาชีวศึกษาประกาศรวมสถานศึกษา คือ โรงเรียนอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กับโรงเรียนเทคนิคเชียงใหม่ โดยยกระดับมาตรฐานของสถานศึกษาขึ้นเป็น วิทยาลัย ในชื่อใหม่ว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2519 และให้เป็นสถานศึกษาในสังกัดกองวิทยาลัยอาชีวศึกษา กรมอาชีวศึกษา
พ.ศ. 2522 กรมอาชีวศึกษาได้มีประกาศแยกโรงเรียน โดยให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมมีอยู่ 2 วิทยาเขตในปี พ.ศ. 2519 นั้น โดยแยกเป็นสถานศึกษาเดิมและเปลี่ยนชื่อสถานศึกษา เป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2522
พ.ศ. 2524 กรมอาชีวศึกษาได้ประกาศใช้หลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ปีพุทธศักราช 2524 และจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) สาขาวิชาธุรกิจการโรงแรม หลักสูตร 2 ปี โดยรับนักศึกษาที่มีพื้นฐานความรู้ ม.6 เข้าเรียนเป็นปีแรก
พ.ศ. 2525 วิทยาลัยได้รับการประกาศเกียรติคุณจากกรมอาชีวศึกษา ให้เป็น สถานศึกษาดีเด่นของกรมอาชีวศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2525 ประเภทวิชาคหกรรม พาณิชยกรรม และศิลปกรรม
พ.ศ. 2527 ได้รับคัดเลือก ให้เป็น สถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2527 จากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2537 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา ประเภทวิทยาลัยอาชีวศึกษา มีผลทำให้สถานศึกษา มีโอกาสเปิดทำการสอนระดับอุดมศึกษา คือ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และขยายการเปิดสอนสาขาวิชาชีพเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางต่อมาในปัจจุบัน
พ.ศ. 2547 ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา จาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ในระดับดีมาก

พ.ศ. 2553 จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พ.ศ. 2553-2556 ซึ่งมีอยู่หนึ่งพันธกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง คือ พันธกิจที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยยึด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
พ.ศ. 2553 ได้รับการคัดเลือก ให้เป็น สถานศึกษาแบบอย่างการจัดกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากกระทรงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2554 ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา จาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ในระดับดีมาก
พ.ศ. 2555 ได้รับคัดเลือกให้เป็น สถานศึกษารางวัลพระราชทาน และนักเรียน นักศึกษา รางวัลพระราชทาน พ.ศ. 2554 จากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2555 รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา 7 แห่งใน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งประกอบไปด้วย วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน วิทยาลัยทคนิคลำปาง วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีแม่ฮ่องสอน จัดตั้งเป็น สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 ตามกฎกระทรวงการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 129 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2555 เป็นไปตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ
พ.ศ. 2556 เปิดสอนหลักสูตร Mini English Program (MEP) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาการโรงแรม และสาขาวิชาการท่องเที่ยว
พ.ศ. 2556 เปิดสอนระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ สาขาวิชาการโรงแรม (ต่อเนื่อง)
พ.ศ. 2557 เปิดสอนระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ สาขาวิชาดิจิตอลกราฟิก (ต่อเนื่อง)
พ.ศ. 2559 ได้รับคัดเลือกให้เป็น สถานศึกษารางวัลพระราชทาน และนักเรียน นักศึกษา รางวัลพระราชทาน พ.ศ. 2559 จากกระทรวงศึกษาธิการ
พ.ศ. 2563 ได้รับการคัดเลือกจากคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็น “ศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา (Excellent Center) สาขาวิชาการโรงแรมและสาขาวิชาการท่องเที่ยว”
พ.ศ. 2563 ได้รับคัดเลือกให้เป็น สถานศึกษารางวัลพระราชทาน และนักเรียน นักศึกษา รางวัลพระราชทาน พ.ศ. 2563 จากกระทรวงศึกษาธิการ และได้รับโล่สถานศึกษารางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สถานศึกษาที่ได้รับรางวัล สถานศึกษารางวัลพระราชทาน 3 ครั้ง ภายใน 10 ปี)
พ.ศ. 2564 เปิดสอนหลักสูตร Mini Chinese Program (MCP) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาการท่องเที่ยว